แหล่งอาศัย : สิ่งแวดล้อมทั่วไป โดยเฉพาะบริเวณพื้นดิน พื้นหญ้า และสวน สามารถติดได้ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิด โดยเฉพาะสุนัขและแมว
พบได้ : ตามสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะบริเวณพื้นดิน พื้นหญ้า และสวน รวมถึงบนตัวของสุนัข โดยพบการระบาดมากในสุนัขที่เลี้ยงปล่อย เลี้ยงร่วมกันหลายตัว และไม่ได้รับการป้องกันปรสิตอย่างสม่ำเสมอ
ติดสุนัขโดย : เมื่อสุนัขออกนอกบ้าน โดยเห็บจะไต่ขึ้นตัวสุนัข แล้วใช้ปากกัดเพื่อดูดเลือด ตลอดจนยึดเกาะกับร่างกายของสุนัข
ผลร้ายกับสุนัข : ก่อให้เกิดอาการคัน ผิวหนังระคายเคือง เกิดการอักเสบ ในรายมีเห็บเกาะร่างกายเป็นจำนวนมากเป็นระยะเวลานาน อาจก่อให้เกิดภาวะโลหิตจางได้ นอกจากนี้เห็บยังเป็นพาหะของโรคพยาธิเม็ดเลือดหลายชนิด โดยติดผ่านทางเห็บดูดเลือด หรือสุนัขกินเห็บเข้าไป ซึ่งโรคนี้เป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดปัญหาสุขภาพซึ่งส่งผลเสียทำให้สุนัขเสียชีวิต
ข้อมูลทั่วไป
เห็บ คือปรสิตที่สามารถพบได้ในธรรมชาติ มีมากมายหลายชนิด แต่ชนิดที่สามารถพบได้บ่อยในสุนัขคือเห็บสุนัขสีน้ำตาล (brown dog tick) ซึ่งมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Rhipicephalus sanguineus เห็บชนิดนี้เป็นปรสิตที่พบการแพร่ระบาดเป็นอย่างมากในประเทศไทยทั้งในเขตเมือง และเขตต่างจังหวัด สามารถพบได้ทั่วโลกโดยเฉพาะในประเทศที่อยู่ในภูมิอากาศแบบร้อนชื้น ขนาดตัวของเห็บมีความแตกต่างกันไปตามแต่ละระยะ โดยรูปร่างของเห็บจะมีขาทั้งหมด 8 ขา มีส่วนของลำตัวซึ่งมีขนาดใหญ่ มีส่วนของหัวขนาดเล็ก สังเกตได้ไม่ชัดเจน แต่จะมีปากยื่นออกมาจากส่วนหัว โดยเห็บจะใช้ปากนี้เจาะดูดเลือดจากร่างกายของสุนัข โดยปากของเห็บจะหลั่งสารซึ่งทำให้เลือดแข็งตัวช้าลงเพื่อช่วยให้สามารถดูดเลือดได้นานมากยิ่งขึ้น
วงจรชีวิตของเห็บมีการผลัดเปลี่ยนของถิ่นที่อยู่อาศัยหลายครั้ง โดยจะขึ้นลงระหว่างบนร่างกายของสุนัขและสิ่งแวดล้อมเพื่อเปลี่ยนแปลงรูปร่างไปตามแต่ละระยะ โดยวงจรชีวิตของเห็บแบ่งออกเป็น 4 ระยะ ได้แก่ ระยะไข่ ระยะตัวอ่อน ระยะตัวกลางวัย และระยะตัวเต็มวัย
ระยะไข่ (egg) : เห็บเพศเมียจะวางไข่ในสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะบริเวณพื้นดิน หรือซอกมุมต่าง ๆ ของบริเวณบ้าน โดยเห็บตัวเต็มวัยหนึ่งตัวสามารถวางไข่ได้สูงถึง 4,000 ฟอง ซึ่งไข่เหล่านี้จะฟักได้ดีในสภาพแวดล้อมที่มีความชื้นสูงและอากาศร้อน ทั้งนี้ไข่จะใช้เวลาประมาณ 17-30 วันในการฟักตัว (ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม) และฟักออกมาเป็นตัวอ่อนต่อไป
ระยะตัวอ่อน (larva) : เห็บที่เพิ่งฟักตัวออกจากไข่จะยังคงมีรูปร่างไม่สมบูรณ์ (มี 6 ขา) โดยตัวอ่อนระยะนี้จะสามารถเคลื่อนไหวได้อย่างรวดเร็ว พวกมันจะเคลื่อนที่เข้าหาตัวของสุนัขเพื่อดูดเลือดเป็นอาหาร ขั้นตอนนี้จะใช้ระยะเวลาประมาณ 2-3 วัน จากนั้น เห็บระยะตัวอ่อนจะเคลื่อนที่ออกจากสุนัขกลับสู่สิ่งแวดล้อม เพื่อหาพื้นที่ที่เหมาะสมในการเปลี่ยนตัวเอง (ด้วยการลอกคราบ) เพื่อกลายเป็นระยะตัวกลางวัยที่มีขนาดใหญ่ขึ้นต่อไป
ระยะตัวกลางวัย (nymph) : ตัวอ่อนระยะกลางวัยจะมีรูปร่างเหมือนตัวเต็มวัย (มี 8 ขา) พวกมันจะไต่และเดินทางกลับสู่ร่างกายของสุนัขเพื่อดูดกินเลือดเป็นอาหาร ทั้งนี้มีรายงานว่าเห็บตัวเต็มวัยมีความทนทานในสิ่งแวดล้อมสูง สามารถมีชีวิตรอดอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้นานถึง 6 เดือนแม้ไม่ได้ดูดเลือดเป็นอาหาร หลังจากนั้นตัวกลางวัยจะกลับลงสู่สิ่งแวดล้อมเพื่อเตรียมตัวลอกคราบเป็นตัวเต็มวัยต่อไป
ระยะตัวเต็มวัย (adult) : เห็บระยะตัวกลางวัยเมื่อลอกคราบเป็นตัวเต็มวัยแล้วจะกลับขึ้นสู่ร่างกายของสุนัข เพื่อดูดเลือดเป็นอาหารต่อไป ทั้งนี้มีรายงานว่าเห็บตัวเต็มวัยมีความทนทานในสิ่งแวดล้อมสูง สามารถมีชีวิตรอดอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้นานถึง 19 เดือนแม้ไม่ได้ดูดเลือดเป็นอาหาร โดยตัวเต็มวัยของเห็บจะมีขา 8 ขา ลำตัวแบน สีน้ำตาลแดง และมีขนาดตัวประมาณ 3 มิลลิเมตร เมื่อเห็บดูดเลือดจนเต็มอิ่มแล้ว เห็บตัวผู้และตัวเมียจะทำการผสมพันธุ์บนตัวสุนัข จากนั้นเห็บตัวเมียจะมองหาที่สำหรับวางไข่ต่อไป
การติดต่อ
สุนัขสามารถติดเห็บได้ทั้งจากสิ่งแวดล้อมภายนอก และจากสุนัขด้วยกันเอง โดยเห็บมักติดต่อจากสุนัขตัวหนึ่งไปสู่สุนัขอีกตัวผ่านการสัมผัส ซึ่งการติดต่อมักเกิดขึ้นโดยเฉพาะในกลุ่มของสุนัขที่อยู่ร่วมกันเป็นจำนวนมาก เลี้ยงแบบปล่อย และไม่ได้รับการป้องกันปรสิตอย่างสม่ำเสมอ โดยเห็บนอกจากจะเป็นต้นเหตุของการเกิดอาการคันในสุนัขแล้ว ยังเป็นสาเหตุของการเกิดโรคพยาธิเม็ดเลือดซึ่งส่งผลให้สุนัขเกิดอาการป่วยและเสียชีวิตได้
อาการ
สุนัขที่ติดเห็บมักเกิดอาการคันบริเวณที่โดนกัด และเมื่อเห็บมีการเพิ่มจำนวนมากบนตัวสุนัข สุนัขอาจเกิดภาวะโลหิตจาง ซึ่งจะแสดงออกผ่านทางอาการอ่อนเพลีย เยื่อเมือกซีด อ่อนเพลีย และเหนื่อยง่าย นอกจากนี้ในรายที่ติดโรคพยาธิเม็ดเลือดจากการโดนเห็บกัดยังอาจส่งผลให้เกิดอาการความผิดปกติ เช่น ซึม มีไข้ เบื่ออาหาร เหงือกซีด มีภาวะโลหิตจาง มีจ้ำเลือดที่ผิวหนัง เลือดออกง่าย เลือดหยุดไหลช้า ในรายที่รุนแรงอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้
การรักษา
โรคที่มีสาเหตุมาจากการโดนเห็บกัดที่มีความสำคัญในสุนัข คือ โรคพยาธิเม็ดเลือด โดยโรคนี้สามารถทำการรักษาให้หายได้ จากการใช้ผลิตภัณฑ์รักษาเพื่อกำจัดเชื้อต้นเหตุของโรค โดยให้อย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 28 วัน และทำการตรวจติดตามอาการอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามโรคนี้เป็นโรคที่สามารถกลับมาเป็นได้ทุกเมื่อหากไม่ได้รับการป้องกันปรสิต เจ้าของจึงควรให้ความสำคัญกับการป้องกันปรสิต และปฏิบัติตามคำแนะนำในการดูแลสุขภาพของสุนัขอย่างเคร่งครัด
การป้องกัน
การป้องกันสุนัขจากเห็บในปัจจุบันสามารถทำได้ง่าย ๆ โดยการใช้ผลิตภัณฑ์ป้องกันปรสิตที่มีประสิทธิภาพ ได้รับการรับรองจากสัตวแพทย์ ในปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ทางเลือกให้เจ้าของสามารถเลือกใช้ได้หลายชนิดโดยเฉพาะชนิดที่ออกฤทธิ์ครอบคลุมการป้องกันปรสิตภายนอก (ออกฤทธิ์กำจัดเห็บหมัดไรขี้เรื้อน) และปรสิตภายใน เช่น
พยาธิตัวกลม พยาธิแส้ม้า พยาธิหนอนหัวใจ โดยควรทำร่วมกันกับการดูแลความสะอาดของสิ่งแวดล้อมเพื่อลดโอกาสการสะสมและเพิ่มจำนวนของเห็บในธรรมชาติ ที่สำคัญอย่าลืมพาสุนัขไปพบสัตว์แพทย์เป็นประจำสม่ำเสมอด้วยนะ
ปกป้องน้องให้ครบกว่าทุกการป้องกัน ทั้งเห็บ หมัด ไร พยาธิหนอนหัวใจ และพยาธิร้ายอื่น ๆ ด้วยโปรแกรมป้องกันปรสิตที่ครบกว่าที่สัตวแพทย์แนะนำ