พยาธิไส้เดือน (Roundworm)
ศัตรูตัวร้ายของน้องหมา

พยาธิตัวกลม (Roundworm)

พยาธิตัวกลม (Roundworm)

พยาธิตัวกลม (Roundworm)

 

แหล่งอาศัย : พยาธิไส้เดือนอาศัยในทางเดินอาหารน้องหมา ทั้งในหมาบ้าน หมาป่า หรือหมาจิ้งจอก

พบได้: โดยทั่วไป พยาธิไส้เดือนจะอาศัยอยู่ในทางเดินอาหารส่วนลำไส้เล็ก แต่ก็สามารถเดินทางไปในส่วนอื่นของร่างกาย เช่น หลอดเลือด ปอด หรือหลอดลม

ติดสุนัขโดย : สามารถเข้าสู่ร่างกายสุนัขได้หลายช่องทาง เช่น ผ่านทางรก ทางน้ำนม การกินไข่พยาธิโดยตรง หรือการกินสัตว์ขนาดเล็กที่มีไข่พยาธิ

ผลร้ายกับสุนัขและเจ้าของ : ทำให้ลูกสุนัขท้องกาง ปวดท้อง ท้องเสีย อาเจียน ถ้าหากติดในวัยเด็ก อาจทำให้เสียชีวิตได้ และยังสามารถติดสู่คน เด็ก ๆ ที่เล่นในพื้นที่เดียวกับลูกสุนัขมีโอกาสติดโรคได้

 

ข้อมูลทั่วไป

พยาธิไส้เดือน หรือ (Toxocara canis) มีลักษณะกลมยาว สีขาวมีลาย ยาวได้ตั้งแต่ 4 ถึง 15 เซนติเมตรโดยประมาณ ถือว่าเป็นขนาดที่ค่อนข้างใหญ่กว่าหนอนพยาธิตัวกลมชนิดอื่น พยาธิชนิดนี้อาศัยอยู่ในลำไส้เป็นหลัก เป็นพยาธิที่พบได้บ่อยมากทั้งในน้องหมา และน้องแมว หากอยู่ในช่วงวัยที่กำลังเจริญเติบโตก็อาจส่งผลต่อร่างกายได้มาก เนื่องจากพยาธิจะไปแย่งสารอาหารจากร่างกาย และเป็นปัญหาพบได้บ่อยในลูกสัตว์ ส่งผลให้แคระแกร็น ท้องกาง ไม่แข็งแรง หรือแม้แต่ในช่วงที่น้องหมาโตแล้วก็ยังพบปัญหาได้ ซึ่งอาจมีอาการท้องเสีย ซึม เบื่ออาหาร เกิดความผิดปกติของ ทางเดินอาหารและทางเดินหายใจได้ พยาธิไส้เดือนเป็นพยาธิที่มีการเดินทางภายในร่างกายบ่อยครั้งในช่วงที่เป็นตัวอ่อน เช่น กล้ามเนื้อ ปอด ตับ ไต ก่อนที่จะไปสู่ลำไส้ที่เป็นเป้าหมาย ทำให้เกิดผลเสียต่อร่างกาย และเป็นการฉวยโอกาสที่พยาธิจะถ่ายทอดจากแม่มาถึงลูกสุนัขได้

 

การติดต่อ

น้องหมาสามารถติดพยาธิไส้เดือนได้จากหลากหลายช่องทาง โดยการกินไข่เข้าไปโดยบังเอิญ หรืออาจเกิดจากการกินเหยื่อที่มีพยาธิอยู่ในร่างกาย นอกจากนั้นยังสามารถติดผ่านแม่สู่ลูกได้ตั้งแต่ช่วงตั้งท้อง จนถึงช่วงให้นมลูก การเดินทางของพยาธิในร่างกายสุนัขสามารถเดินทางแทรกไปในอวัยวะได้หลายส่วน โดยหากพยาธิติดเข้าสู่ร่างกายในน้องหมาวัยเด็ก ตัวอ่อนพยาธิมักเริ่มต้นด้วยการเดินทางในระบบทางเดินอาหารจนไปสู่ลำไส้เล็ก และจะเริ่มเดินทางออกจากทางเดินอาหารไปสู่อวัยวะส่วนอื่น เช่น ตับ ปอด โดยหากตัวอ่อนไปอยู่ที่ปอด น้องหมาอาจมีอาการไอ เพื่อที่ตัวอ่อนจะได้เดินทางย้อนขึ้นไปสู่หลอดลม และให้น้องหมาสามารถกลืนตัวอ่อนเข้าไปสู่ระบบทางเดินอาหารอีกครั้ง แล้วเจริญเติบโตเข้าสู่ระยะโตเต็มวัยในลำไส้เล็ก พร้อมแพร่ขยายพันธุ์ไข่พยาธิต่อไป แต่ถ้าน้องหมาได้รับไข่พยาธิตอนที่โตแล้ว โดยเฉพาะในแม่สุนัข ไข่พยาธิก็สามารถเดินทางสู่เนื้อเยื่ออื่น ๆ ได้เช่นกัน เช่น เนื้อเยื่อเต้านมหรือรก ทำให้ลูกสุนัขที่อยู่ในท้องแม่ สามารถติดพยาธิได้ตั้งแต่ในท้องหรือติดจากนมแม่

พยาธิไส้เดือนมีโอกาสการติดเป็นปรสิตในคนได้สูง โดยเฉพาะเด็ก ๆ ที่สัมผัสดิน ไม่ค่อยได้ล้างมือหรือแม้แต่การสัมผัสน้องหมาที่มีพยาธิไส้เดือนอยู่ แต่เพราะปัจจุบันการจัดการด้านสุขลักษณะ และการป้องกันพยาธิทำได้ดีขึ้นจึงมีแนวโน้มในการพบพยาธิไส้เดือนน้อยลง 

 

อาการ

น้องหมาที่มีพยาธิไส้เดือนสามารถพบอาการได้หลากหลาย ตั้งแต่ไม่มีอาการไปจนถึงมีอาการรุนแรงถึงชีวิต โดยสุนัขโต หากได้รับเชื้อก็อาจแสดงอาการไม่รุนแรงเท่าในสุนัขเด็ก โดยอาการที่พบมักขึ้นอยู่กับภูมิคุ้มกันของสุนัข ปริมาณพยาธิที่พบ รวมไปถึงตำแหน่งที่พยาธิเดินทางไปถึง เช่น หากพบพยาธิที่ปอดก็อาจพบอาการทางระบบหายใจ ทำให้มีอาการไอหรือพบภาวะปอดอักเสบ หากพยาธิไส้เดือนเดินทางไปถึงตับ ก็อาจวินิจฉัยพบว่าตับขยายใหญ่ขึ้น ในสุนัขโตมักพบอาการซึม ผอมแห้ง ท้องกางใหญ่ ท้องเสีย ขนแห้ง รวมถึงอาจพบภาวะโลหิตจาง 

ส่วนน้องหมาเด็ก อาจพบอาการรุนแรง และมักมีอัตราการเสียชีวิตสูงในช่วงหลังคลอด 2-3 สัปดาห์ อาจพบอาการ เช่น อาการอาเจียน อาการไอ ซึ่งอาการเหล่านี้ทำให้เกิดการสำลักเข้าสู่ปอด จนเกิดภาวะปอดอักเสบตามมาได้ นอกจากนี้ปอดอักเสบยังเกิดได้จากการที่พยาธิไส้เดือนชอนไชสร้างความเสียหายให้กับเนื้อเยื่อปอด การมีพยาธิไส้เดือนจำนวนมากในทางเดินอาหารก็ส่งผลให้เกิดการอุดตันจนเสียชีวิตได้เช่นกัน

 ส่วนอาการที่เกิดในคนก็มีหลากหลายอาการด้วยกัน ขึ้นกับตำแหน่งที่ตัวพยาธิไปถึง โดยส่วนมากมักไม่แสดงอาการ แต่มักแสดงอาหารในผู้ป่วยอายุน้อย โดยแบ่งประเภทของอาการได้เป็น อาการจากการเคลื่อนตัวในอวัยวะภายใน กับอาการจากการเคลื่อนตัวไปที่ดวงตา ซึ่งมักแสดงอาการไม่จำเพาะ ไม่สามารถบ่งชี้การติดพยาธิไส้เดือนได้จากเพียงแค่การดูอาการภายนอกเท่านั้น

 

การรักษา

หากพบว่าสุนัขที่บ้านมีอาการดังที่กล่าวข้างต้น ก็ถือว่ามีความเสี่ยงจะเป็นโรคพยาธิไส้เดือน ควรพาน้องมาพบสัตวแพทย์เพื่อวินิจฉัย และรักษาอาการรวมถึงวางแผนป้องกันพยาธิต่อไป โดยการรักษาสามารถทำได้โดยการใช้ยาถ่ายพยาธิสุนัข ซึ่งยาถ่ายพยาธิสุนัขมีหลากหลายชนิดด้วยกัน และหากมีอาการอื่นก็ให้ทำการรักษาควบคู่ไปกับการรักษาแบบประคองอาการ อย่างไรก็ตามวิธีรักษาด้วยการใช้ยาถ่ายพยาธิสุนัข การเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ ขนาด และความถี่ในการใช้ ควรขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของสัตวแพทย์ผู้วางแผนขั้นตอนการรักษา

 

การป้องกัน

การใช้ยาถ่ายพยาธิสุนัขเป็นประจำ เป็นหัวใจสำคัญที่จะช่วยให้น้องหมารอดพ้นจากอันตรายที่เกิดจากพยาธิ โดยเฉพาะ ควรป้องกันอย่างต่อเนื่อง และสม่ำเสมอ อีกทั้งด้วยคุณสมบัติของพยาธิที่สามารถถ่ายทอดจากแม่สู่ลูกได้ ทำให้การป้องกันพยาธิในแม่สุนัขก็สำคัญเช่นกัน ดังนั้นควรเลือกใช้ยาถ่ายพยาธิสุนัขที่สามารถใช้ในแม่ตั้งท้อง และแม่ให้นมได้อย่างครอบคลุม จึงจะมีส่วนช่วยในการป้องกันโรคนี้ รวมถึงการรักษาความสะอาดในสิ่งแวดล้อมก็สำคัญเช่นกัน เพราะพยาธิไส้เดือนก็สามารถติดเข้าสู่ร่างกายลูกสุนัขจากการเลียกินไข่พยาธิไส้เดือนที่ปนเปื้อนตามสิ่งแวดล้อมได้ และต้องไม่ลืมพาสุนัขไปพบกันสัตวแพทย์ใกล้บ้านอย่างสม่ำเสมอ เพื่อวางแผนการป้องกันร่วมกัน

ปกป้องน้องให้ครบกว่าทุกการป้องกัน ทั้งเห็บ หมัด ไร พยาธิหนอนหัวใจ และพยาธิร้ายอื่น ๆ ด้วยโปรแกรมป้องกันปรสิตที่ครบกว่าที่สัตวแพทย์แนะนำ

คัดลอก URL แล้ว