พยาธิในปอด (Lungworm)
แหล่งอาศัย : พบพยาธิตัวเต็มวัยในปอดของสุนัข นอกจากนี้สามารถพบไข่พยาธิได้ตามสภาพแวดล้อมที่มีการปนเปื้อน หรือตัวอ่อนพยาธิในปอดบางชนิดอาศัยอยู่ในโฮสต์กึ่งกลางจำพวกหอยทาก หรือสัตว์ที่กินหอยทากที่มีตัวพยาธิเข้าไป เช่น กบ
พบได้ : สามารถพบพยาธิในปอดได้ในหลอดเลือดที่ไปยังปอด และหัวใจ รวมถึงไข่พยาธิในระบบทางเดินอาหาร
ติดสุนัขโดย : สุนัขอาจวิ่งเล่นในสภาพแวดล้อมที่มีพยาธิ เลียกินไข่พยาธิที่ปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมโดยตรง หรือจากการกินหอยทากหรือกบที่มีตัวอ่อนพยาธิในปอดจากอุจจาระสุนัข
ผลร้ายกับสุนัข : ส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจ จะพบว่าน้องหมาหายใจแรงมีอาการไอ จาม หายใจลำบาก ปอดอักเสบ และสามารถก่อให้เกิดอาการทางระบบได้ เช่น ภาวะเลือดออก ภาวะเลือดไหลไม่หยุด รวมถึงอาจเกิดการอุดตันของพยาธิในหลอดเลือด ส่งผลให้หัวใจล้มเหลว และเสียชีวิตได้
ข้อมูลทั่วไป
พยาธิในปอดที่พบได้ในน้องสุนัขมีอยู่หลากหลายชนิด ซึ่งพยาธิแต่ละชนิดมีวงจรชีวิตแตกต่างกันไป โดยชนิดที่พบได้บ่อยมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ชื่อว่า Eucoleus aerophilus (Capillaria aerophilus) พยาธิในปอดชนิดนี้สามารถติดสู่สัตว์อื่น ๆ ได้อีกมากนอกจากน้องสุนัข และน้องแมวแล้ว ยังสามารถพบได้ในสัตว์ป่า เช่น หนู เม่นแคระ แมวป่า สุนัขจิ้งจอก และอื่น ๆ อีกทั้งยังมีวงจรที่ชีวิตที่ไม่ต้องพึ่งพาอาศัยโฮสต์กึ่งกลาง น้องสุนัขสามารถได้รับไข่พยาธิจากสิ่งแวดล้อมโดยตรง และติดเชื้อพยาธิได้ นอกจากพยาธิชนิดนี้แล้ว ยังมีพยาธิปอด (Angiostrongylus vasorum) พยาธิชนิดนี้มีลักษณะเด่นคือ เส้นลายทางสลับแดงขาวคล้ายเสาหน้าร้านทำผม (barber’s pole appearance) ซึ่งพยาธิชนิดนี้จำเป็นต้องมีการติดต่อผ่านโฮสต์กึ่งกลางจำพวกหอยทาก หรือสัตว์ที่กินหอยทากที่มีเชื้อ นอกเหนือจากเหล่าพยาธิตัวกลมที่กล่าวมาข้างต้นแล้วยังมี (Paragonimus kellicotti) ที่เป็นพยาธิใบไม้ในปอดเช่นกัน
การกระจายตัวของพยาธิในปอด สามารถพบได้ในหลากหลายพื้นที่ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีสุนัข และแมวชุกชุม สุนัขกลุ่มที่มีความเสี่ยงคือสุนัขที่อายุน้อย ภูมิคุ้มกันไม่แข็งแรง ใช้ชีวิตแบบอาศัยนอกบ้าน สุนัขที่มีพฤติกรรมชอบกินสิ่งแปลกปลอม รวมไปถึงสุนัขที่ไม่ได้รับผลิตภัณฑ์ป้องกันพยาธิในปอดอย่างสม่ำเสมอ
การติดต่อ
การติดต่อของพยาธิทั้ง 2 ชนิด ในสุนัขจะมีรูปแบบการติดต่อ และวงจรชีวิตแตกต่างกัน โดยการติดเชื้อพยาธิ (Eucoleus aerophilus) สามารถติดต่อได้โดยการที่สุนัขกินไข่พยาธิที่ปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมเข้าไปโดยตรง หลังจากนั้นตัวอ่อนพยาธิจะไปอยู่ที่ต่อมน้ำเหลืองในช่องท้อง แล้วเคลื่อนที่ไปสู่ระบบไหลเวียนโลหิต และไปอยู่ที่หลอดเลือดปอด หรือหัวใจของสุนัข หลังจากนั้นเมื่อพยาธิโตเต็มวัย จึงปล่อยไข่ในระบบทางเดินหายใจ สุนัขจะมีอาการสำลัก และกลืนไข่พยาธิลงสู่ระบบทางเดินทางอาหาร สุดท้ายไข่พยาธิก็จะออกไปสู่สิ่งแวดล้อมไปกับอุจจาระ
ส่วนวงจรชีวิตของพยาธิในปอด ( Angiostrongylus vasorum) จะแตกต่างออกไปตรงที่มีตัวกลางกักเก็บไข่ไว้ รอวันให้สุนัขมากิน และรับตัวพยาธิเข้าไป นั่นก็คือโฮสต์กึ่งกลางจำพวกหอยทาก โดยหอยทากจะกินไข่พยาธิจากสิ่งแวดล้อมรอบ ๆ และสุนัขสามารถได้รับตัวอ่อนพยาธิทั้งจากการกินหอยทากโดยตรงหรือจากการกินสัตว์ที่กินหอยทากที่มีเชื้อเข้าไป เช่น กบ เมื่อพยาธิเข้าสู่ร่างกายสุนัขจะเริ่มต้นวงจรชีวิตที่ระบบทางเดินอาหาร เคลื่อนตัวไปสู่ต่อมน้ำเหลืองในช่องท้อง เข้าสู่หลอดเลือด หัวใจ และไปยังปอด สุดท้ายจึงแพร่เชื้อผ่านทางอุจจาระ เช่นเดียวกับในพยาธิ (Eucoleus aerophilus)
อาการ
อาการของการติดเชื้อพยาธิในปอดขึ้นอยู่กับปริมาณพยาธิที่ได้รับ ระดับภูมิคุ้มกันของสุนัข รวมถึงอวัยวะที่พยาธิอาศัย หากสุนัขได้รับพยาธิในปริมาณน้อยก็อาจไม่แสดงอาการ โดยอาการในสุนัขที่ติดเชื้อนั้นมีอาการได้หลากหลาย โดยเฉพาะอาการทางระบบหายใจจากการที่พยาธิสร้างความเสียหายให้กับถุงลมปอด จะพบเห็นว่าการที่สุนัขหายใจแรงหรือสุนัขแลบลิ้นและหายใจหอบ เพราะรับออกซิเจนได้น้อยลง อาจพบอาการไอ จาม มีเสียงหายใจดัง หายใจลำบาก เหนื่อยง่าย นอกจากนี้สุนัขที่มีอาการรุนแรง อาจแสดงอาการอื่น ๆ เช่น มีอาการซึม กินอาหารลดลง การมีเลือดออกภายในร่างกายจากการที่พยาธิสร้างสารยับยั้งการแข็งตัวของเลือด การอุดตันของตัวพยาธิในหลอดเลือดขนาดเล็ก หัวใจล้มเหลว ไปจนถึงอาจส่งผลให้น้องสุนัขเสียชีวิตได้เช่นกัน
การรักษา
เนื่องด้วยโรคพยาธิในปอดไม่มีอาการจำเพาะ และอาการที่เกิดขึ้นค่อนข้างคล้ายคลึงกับโรคทางระบบหายใจอื่น ๆ ดังนั้นหากเจ้าของพบว่าน้องสุนัขที่บ้าน มีปัญหาทางระบบหายใจ เช่น ไอ จาม หายใจแรง หรือมีภาวะเลือดหยุดยาก ควรพาน้องสุนัขไปพบสัตวแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัย และรักษาต้นเหตุของอาการ โดยการรักษาโรคพยาธิในปอด สามารถทำได้โดยการใช้ยาถ่ายพยาธิสุนัข และการรักษาแบบประคองอาการ อย่างไรก็ตามวิธีการรักษา การเลือกใช้ ขนาด และความถี่ในการใช้ ควรขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของสัตวแพทย์ผู้รักษา
การป้องกัน
การป้องกันสามารถจัดการได้ที่สภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัยของสุนัข โดยการดูแลรักษาความสะอาดพื้นที่อยู่อาศัย ระวังไม่ให้สุนัขกินสัตว์จำพวกหอยทาก และกบ รวมถึงจำกัดวงจรการเพิ่มจำนวนของโฮสต์กึ่งกลาง เปลี่ยนชามน้ำหรือกำจัดแหล่งน้ำขังในบริเวณที่สุนัขเข้าถึง และหลีกเลี่ยงการให้สุนัขไปอยู่บริเวณที่มีการชุกชุมของพยาธิ หรือโฮสต์กึ่งกลาง อีกทั้งยังสามารถป้องกันพยาธิจากตัวสุนัขได้โดยการใช้ผลิตภัณฑ์ป้องกันพยาธิอย่างเป็นประจำสม่ำเสมอ ต่อเนื่องทุก ๆ เดือน เพื่อป้องกันการติดพยาธิปอดในน้องสุนัข
ปกป้องน้องให้ครบกว่าทุกการป้องกัน ทั้งเห็บ หมัด ไร พยาธิหนอนหัวใจ และพยาธิร้ายอื่น ๆ ด้วยโปรแกรมป้องกันปรสิตที่ครบกว่าที่สัตวแพทย์แนะนำ