พยาธิหนอนหัวใจ (Heartworm)
ศัตรูตัวร้ายของน้องหมา

พยาธิหนอนหัวใจ (Heartworm)

พยาธิหนอนหัวใจ (Heartworm)

พยาธิหนอนหัวใจ (Heartworm)
 

แหล่งอาศัย : ตัวอ่อนระยะติดต่อจะอยู่ในยุง ส่วนตัวเต็มวัยพบได้ในสุนัข

พบได้ : ตัวเต็มวัยอาศัยอยู่ในหัวใจและหลอดเลือดที่ไปยังปอด

ติดสุนัขโดย : การติดต่อจากสุนัขสู่สุนัข ผ่านการโดนยุงกัด

ผลร้ายกับสุนัข : ทำให้สุนัขมีอาการระบบทางเดินหายใจ และหัวใจ ทำให้หัวใจล้มเหลว และเสียชีวิตได้

 

ข้อมูลทั่วไป

พยาธิหนอนหัวใจ เป็นพยาธิที่ตัวเต็มวัยอาศัยอยู่ในหัวใจน้องหมาตามชื่อพยาธิ จัดอยู่ในกลุ่มพยาธิ ตัวกลม มีชื่อเรียกว่า (Dirofilaria immitis) ติดต่อกันโดยมียุงเป็นพาหะนำโรค เช่น ยุงลาย ยุงก้นปล่อง ยุงลายเสือ การป้องกันสามารถทำได้โดยใช้ผลิตภัณฑ์กำจัดตัวอ่อน พยาธิหนอนหัวใจมีลักษณะตัวกลม ยาว พยาธิตัวผู้มีความยาว 12-20 เซนติเมตร ในขณะที่ตัวเมียสามารถยาวได้ถึง 30 เซนติเมตร โดยพยาธิเหล่านี้จะอยู่บริเวณหลอดเลือดของปอด และอาจมีบางส่วนอยู่ที่หัวใจห้องล่างขวา 

เมื่อถูกยุงที่เป็นพาหะของโรคกัด น้องหมาจะได้รับตัวอ่อนของพยาธิ และตัวอ่อนเหล่านั้นก็จะไปเจริญเติบโตเป็นพยาธิตัวเต็มวัยต่อไป เราสามารถตรวจโรคได้โดยการใช้ชุดตรวจเลือดหรือใช้วิธีตรวจเลือดจากกล้องจุลทรรศน์ ซึ่งจะเห็นพยาธิหนอนหัวใจในการตรวจ โดยเราสามารถพบอาการผิดปกติของน้องหมาที่เกิดโรคนี้ได้ เช่น เหนื่อยหอบง่าย ซึม น้ำหนักลด หัวใจล้มเหลว ซึ่งอาการเหล่านี้จะค่อย ๆ เกิดขึ้นอย่างช้า ๆ โดยอาจไม่สังเกตเห็นอาการของโรคเป็นระยะเวลานาน แต่ถ้าหากโชคร้าย เจ้าตัวอ่อน ของพยาธิหลงทางไปยังจุดที่ไม่ควรไปอยู่เช่น ตา สมอง หลอดเลือดที่ขา ก็สามารถทำให้เกิดอาการอื่น ๆ ได้ เช่น ชัก ขาอ่อนแรง

 

การติดต่อ

โรคพยาธิหนอนหัวใจเกิดจากพาหะนำโรคคือ ยุง โดยวงจรการติดต่อเริ่มจากยุงตัวเมียกินตัวอ่อนพยาธิหนอนหัวใจจากเลือดสุนัขที่มีพยาธิหนอนหัวใจ จากนั้นตัวอ่อนพยาธิหนอนหัวใจจะพัฒนาเป็นตัวอ่อนระยะแรก และพัฒนาเป็นระยะที่ 3 จะมีการลอกคราบ 2 ครั้งภายในร่างกายยุงโดยใช้เวลาประมาณ 8-30 วัน ซึ่งจะขึ้นอยู่กับอุณหภูมิ เมื่อยุงกัดสัตว์เลี้ยง ยุงจะปล่อยตัวอ่อนของพยาธิหนอนหัวใจระยะที่ 3 ผ่านผิวหนังในบริเวณที่ยุงกัด จากนั้นตัวอ่อนจะเริ่มลอกคราบพัฒนาเป็นตัวอ่อนระยะที่ 4 ในชั้นใต้ผิวหนังและกล้ามเนื้อประมาณ 3 วัน หลังจากนั้นประมาณ 2 เดือน ตัวอ่อนระยะนี้จะเคลื่อนย้ายออกจากชั้นไขมันและกล้ามเนื้อไปเป็นตัวไม่เต็มวัย ซึ่งจะเข้าสู่หลอดเลือดดำตามร่างกาย และไปยังหลอดเลือดที่ปอดและพัฒนากลายเป็นตัวเต็มวัยต่อไป

มนุษย์ไม่ใช่เป้าหมายของพยาธิชนิดนี้ แต่ก็สามารถพบการติดโรคนี้ได้โดยบังเอิญ ซึ่งตามปกติตัวอ่อนของ พยาธิจะไม่สามารถเติบโตหรือดำรงชีวิตอยู่ในเนื้อเยื่อร่างกายของคนได้ และเมื่อตัวอ่อนตาย ร่างกายก็จะ กำจัดให้หมดไปซึ่งอาจมีการอักเสบเล็กน้อย จึงไม่ได้เป็นปัญหาที่น่ากังวล

 

อาการ

อาการพยาธิหนอนหัวใจสุนัขนั้นอาจแสดงอาการน้อย หรือไม่แสดงอาการใด ๆ เลยได้ หากตัวอ่อนพยาธิหนอนหัวใจในร่างกายยังขยายจำนวนไม่มากนัก กรณีที่มีพยาธิหนอนหัวใจจำนวนปานกลาง สุนัขจะแสดงอาการไอ ไม่อยากออกกำลังกาย ไม่อยากเดินหรือลุกนั่ง ความอยากอาหารลดลง น้ำหนักตัวลดลง เป็นต้น กรณีที่อาการรุนแรงเนื่องจากมีตัวพยาธิอุดตันการไหลเวียนของเลือดที่หัวใจห้องล่างขวารวมทั้งหลอดเลือดดำใหญ่ สุนัขอาจมีภาวะของความผิดปกติของหัวใจอย่างรุนแรง เช่น เลือดไหลย้อนในห้องหัวใจ ลิ้นหัวใจทำงานผิดปกติ หรือกระทั่งไหลเวียนเลือดล้มเหลว

 

การรักษา

วิธีรักษาสุนัขเป็นพยาธิหนอนหัวใจคือ การกำจัดตัวพยาธิทุกระยะ ทั้งตัวอ่อน หรือพยาธิตัวเต็มวัย โดยทำให้เกิดผลข้างเคียงน้อยที่สุดต่อตัวสัตว์ และลดอาการที่เกิดจากการติดพยาธิหนอนหัวใจ สุนัขที่มีอาการทางคลินิกอย่างชัดเจน ควรได้รับการรักษาให้อยู่ในสภาวะคงที่ก่อนที่จะให้ทำการรักษาด้วยผลิตภัณฑ์กำจัดพยาธิตัวเต็มวัย โดยอาจให้ผลิตภัณฑ์สเตียรอยด์ ผลิตภัณฑ์ขับน้ำ ผลิตภัณฑ์เพิ่มการบีบตัวของกล้ามเนื้อหัวใจ 

ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในการกำจัดตัวอ่อน และตัวเต็มวัยพยาธิหนอนหัวใจนั้นมีอยู่หลายชนิด มีทั้งชนิดแบบกิน ฉีดและแบบหยดลงผิวหนัง โดยสัตวแพทย์จะเลือกใช้ตามความเหมาะสมของสุนัขแต่ละสายพันธุ์ อายุ และการดูแล โดยสิ่งสำคัญของการรักษาคือการพาสุนัขมารับผลิตภัณฑ์ป้องกันปรสิตอย่างต่อเนื่องทุกเดือนตามที่สัตวแพทย์ใกล้บ้านแนะนำ เพราะการรักษาอย่างต่อเนื่องนั้นเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้การรักษาโรคพยาธิหนอนหัวใจประสบความสำเร็จ

สิ่งที่สำคัญคือในกรณีที่น้องหมาติดพยาธิหนอนหัวใจในปริมาณมาก จะส่งผลให้เกิดภาวะพยาธิตัวเต็มวัยอุดตัน หรือ caval syndrome ซึ่งเป็นภาวะที่เกิดแบบเฉียบพลัน และส่งผลให้เสียชีวิตได้ภายใน 2 วัน หากไม่ได้รับการรักษาโดยการนำพยาธิออกมาจากห้องหัวใจได้เลย ซึ่งหากตรวจพบว่าน้องหมาของเราอยู่ในขั้นนี้แล้ว ควรรีบพบสัตวแพทย์เพื่อทำการักษาอย่างเร่งด่วนทันที 

 

การป้องกัน

แม้ว่าโรคพยาธิหนอนหัวใจจะเป็นโรคที่น่ากลัวและร้ายแรงจนถึงขั้นทำให้น้องหมาเสียชีวิตได้ แต่ก็ไม่ต้องกลัวไปเพราะการป้องกันพยาธิหนอนหัวใจนั้นทำได้ง่ายมาก เพียงแค่ป้องกันพยาธิหนอนหัวใจตามที่สัตวแพทย์แนะนำเป็นประจำทุกเดือนอย่างต่อเนื่อง ร่วมกับการป้องกันปรสิตภายนอกเห็บ หมัดสุนัข ไรขี้เรื้อนเปียก ไรขี้เรื้อนแห้ง และไรหู  และการป้องกันปรสิตภายในอื่นๆ เช่น พยาธิตา พยาธิปากขอ เพื่อการป้องกันที่ครบกว่าทุกการป้องกัน เพียงเท่านี้ก็สามารถป้องกันโรคพยาธิหนอนหัวใจได้แล้ว หมดห่วงว่าน้องหมาของเราจะมีพยาธิหนอนหัวใจได้เลย

 

ปกป้องน้องให้ครบกว่าทุกการป้องกัน ทั้งเห็บ หมัด ไร พยาธิหนอนหัวใจ และพยาธิร้ายอื่น ๆ ด้วยโปรแกรมป้องกันปรสิตที่ครบกว่าที่สัตวแพทย์แนะนำ

คัดลอก URL แล้ว