พยาธิหลอดอาหาร (Esophageal worm)
แหล่งอาศัย : ตัวพยาธิอาศัยอยู่ในทางเดินอาหารของสัตว์ตระกูลสุนัข เช่น น้องหมา หมาป่า หมาจิ้งจอก รวมถึงแมว
พบได้: สามารถพบพยาธิหลอดอาหารตัวเต็มวัยได้ที่ผนังหลอดอาหารสุนัข กระเพาะอาหารไปจนถึงหลอดเลือดแดงใหญ่
ติดสุนัขโดย : น้องหมาที่เผลอกินแมลงปีกแข็งที่มีตัวอ่อนพยาธิหรือกินสัตว์เล็ก เช่น นก หนู กระต่าย กิ้งก่า ที่ได้รับพยาธิมาจากการกินแมลงปีกแข็งที่มีตัวอ่อน
ผลร้ายกับสุนัข : ทำให้ลูกสุนัขกลืนอาหารลําบาก อาเจียน หอบไม่มีแรง พบก้อนมะเร็ง ซึ่งอาจแพร่กระจายไปสู่อวัยวะอื่นได้ หรือบางกรณีอาจหลอดเลือดแดงใหญ่แตกไปจนถึงเสียชีวิตได้
ข้อมูลทั่วไป
พยาธิหลอดอาหาร ที่พบในน้องหมา มีชื่อวิทยาศาสตร์เรียกว่า (Spirocerca lupi) มีความยาวประมาณ 3-8 เซนติเมตร โดยปกติตัวเมียจะยาวกว่าตัวผู้ ลักษณะเป็นตัวสีแดงเข้มคล้ายสีเลือด ขดเป็นสปริงอยู่ในถุงตามผนังหลอดอาหาร และกระเพาะอาหาร ความน่ากลัวคือ พยาธิเหล่านี้จะสร้างพังผืดหุ้มตัวไปอาศัยอยู่ในหลอดอาหาร และบริเวณใกล้เคียง เช่น กระเพาะอาหาร และหลอดเลือดแดงใหญ่ จึงส่งผลกระทบต่อร่างกายได้คล้ายกับการเป็นก้อนเนื้องอก ทำให้สุนัขกินอาหารลำบาก มีอาการสำรอก
พยาธิหลอดอาหารสามารถพบได้ในประเทศไทย โดยกลุ่มน้องสุนัขที่มีความเสี่ยงคือน้อง ๆ ที่มีนิสัยชอบกินสิ่งแปลกปลอม ชอบจับสัตว์ขนาดเล็กกินเป็นอาหาร รวมถึงน้องหมาที่ไม่ได้รับผลิตภัณฑ์ป้องกันพยาธิอย่างเป็นประจำต่อเนื่อง
การติดต่อ
พยาธิหลอดอาหารติดต่อโดยอาศัยแมลงปีกแข็งเป็นตัวกลาง เมื่อน้องหมากินแมลงปีกแข็งเข้าไปโดยบังเอิญ รวมถึงการกินเหยื่ออื่น ๆ เช่น นก หนู กระต่าย กิ้งก่า ที่กินแมลงปีกแข็งที่มีตัวอ่อนพยาธิ ก็สามารถเป็นอีกช่องทางที่นำพาตัวพยาธิมาสู่น้องหมาได้ เมื่อน้องหมาได้รับตัวอ่อนพยาธิมา ตัวอ่อนเหล่านี้ก็เดินทางมาตามทางเดินอาหาร และฟักตัวออกมาอยู่ในกระเพาะอาหาร ฉะนั้นพยาธิหลอดอาหารไม่ได้เกาะที่หลอดอาหารตั้งแต่ตอนแรกที่พยาธิได้เข้าสู่ร่างกาย แต่ตัวอ่อนจำเป็นจะต้องเคลื่อนตัวไปสู่อวัยวะอื่นเพื่อเจริญเติบโตและลอกคราบ โดยเมื่อชอนไชผ่านผนังกระเพาะอาหารออกไปแล้ว ตัวอ่อนจะไปอาศัยอยู่ที่หลอดเลือดแดงของกระเพาะอาหาร เดินทางย้อนไปสู่หลอดเลือดแดงใหญ่ในช่องอก เพื่อเคลื่อนตัวไปเจริญเติบโตอยู่ในหลอดอาหาร หลังจากที่มาถึงหลอดอาหารแล้ว พยาธิหลอดอาหารโตเต็มวันจะฟอร์มตัวมีลักษณะเป็นก้อนเนื้อยึดติดกับผนังหลอดอาหาร สร้างความทรมานให้กับน้องหมา
ส่วนเรื่องการติดต่อสู่คนนั้น เป็นความโชคดีสำหรับมนุษย์ที่พยาธิชนิดนี้ติดเฉพาะในกลุ่มสัตว์กินเนื้อบางชนิดเท่านั้น เช่น น้องหมา หมาป่า และพบได้บ้างในน้องแมว แต่คนไม่ใช้เป้าหมายของพยาธิชนิดนี้
อาการ
ถ้าน้องหมามีพยาธิหลอดอาหารในร่างกาย อาจทำให้มีอาการสำรอก อาเจียน พยาธิหลอดอาหารจะส่งผลให้เกิดอาการผิดปกติต่าง ๆ โดยจะมีความรุนแรงของอาการขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่พยาธิอยู่อาศัย รวมถึงความรุนแรงของรอยโรคแต่ละตำแหน่ง อาการที่สามารถพบได้ ได้แก่ สำรอก อาเจียนกลืนลำบาก มีไข้ ซึม หลอดอาหารขยายผิดปกติ หลอดอาหารอุดตัน เส้นเลือดอุดตัน พังผืดที่มาหุ้มตัวพยาธิสามารถทำให้เกิดภาวะมะเร็งที่หลอดอาหารได้ น้ำหนักลด เกิดการอักเสบในบริเวณที่ติดพยาธิ การเคลื่อนตัวของพยาธิออกจากหลอดเลือดแดงนั้นก็สร้างความเสียหายให้กับหลอดเลือดแดงได้เช่นกัน โดยเคยมีรายงานพบลักษณะของหลอดเลือดฉีดขาด ทำให้เสียเลือดจนส่งผลให้เสียชีวิตได้ ซึ่งกว่าจะพบอาการก็อาจเป็นตอนที่สายไปแล้ว เพราะหลังจากที่หลอดเลือดฉีกขาด สุนัขมักจะเสียชีวิตอย่างรวดเร็วก่อนที่จะเริ่มต้นทำการรักษาได้ทัน และภาวะมะเร็งที่เกิดจากพยาธิชนิดนี้ก็ยังสามารถทำให้เกิดอาการผิดปกติได้หลากหลายระบบ
การรักษา
หากเจ้าของพบว่าสุนัขที่บ้านมีอาการสำรอกหรืออาเจียนบ่อย ๆ กินอาหารได้น้อยลง เป็นไข้ ควรพาน้อง ๆ มาพบสัตวแพทย์ เนื่องจากน้อง ๆ อาจติดเชื้อพยาธิหลอดอาหารหรือมีความผิดปกติอื่น ๆ ได้ และให้สัตวแพทย์ทำการตรวจรักษาต่อไป โดยการรักษาพยาธิหลอดอาหารสามารถทำได้ด้วยการใช้ยาถ่ายพยาธิสุนัข ซึ่งสามารถใช้ได้หลากหลายชนิดด้วยกัน นอกจากจะลดการปล่อยไข่พยาธิสู่สิ่งแวดล้อมแล้ว ยังสามารถชะลอ และยับยั้งการเจริญเติบโตของก้อนเนื้อที่หลอดอาหารได้ อย่างไรก็ตามวิธีการรักษา การเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ ขนาด และความถี่ในการใช้ ควรขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของสัตวแพทย์ผู้รักษา ประกอบไปกับการจัดการอื่น ๆ เช่น วิธีการให้อาหาร อย่างการยกถ้วยอาหารสูงให้สุนัขกินในท่ายืน เพื่อลดโอกาสการสำรอก รวมไปถึงการให้อาหารในรูปแบบของเหลวก็สามารถทำได้เช่นกัน
การป้องกัน
การป้องกันพยาธิหลอดอาหารสามารถทำได้หลากหลายวิธีด้วยกัน อย่างเช่น การจัดการที่สิ่งแวดล้อม หลีกเลี่ยงการให้สุนัขอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีแมลงปีกแข็ง และสัตว์ขนาดเล็ก หรือคอยระวังไม่ให้น้อง ๆ ที่บ้านกินสัตว์เหล่านี้ รวมถึงการเก็บอุจจาระสุนัขเป็นประจำ ไม่ทิ้งไว้นาน ก่อนที่แมลงปีกแข็งจะได้รับไข่พยาธิจากอุจจาระสุนัข และส่งทอดตัวพยาธิต่อไป ที่สำคัญคือการป้องกันจากภายในตัวน้องหมา ก็คือการใช้ผลิตภัณฑ์ป้องกันปรสิตที่ครบครัน ครอบคลุมทั้งภายนอกและภายใน รวมไปถึงพยาธิหลอดอาหาร และพยาธิภายในอื่นๆ เช่น พยาธิหนอนหัวใจ พยาธิปากขอ และพยาธิแส้ม้า ก็เป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยให้น้องหมาปลอดภัย ที่สำคัญต้องอยู่ภายใต้การดูแลของสัตวแพทย์ใกล้บ้านนะ
ปกป้องน้องให้ครบกว่าทุกการป้องกัน ทั้งเห็บ หมัด ไร พยาธิหนอนหัวใจ และพยาธิร้ายอื่น ๆ ด้วยโปรแกรมป้องกันปรสิตที่ครบกว่าที่สัตวแพทย์แนะนำ