ไรขี้เรื้อนเปียก (Demodex Mites)
ศัตรูตัวร้ายของน้องหมา

ไรขี้เรื้อนเปียก (Demodex Mites)

ไรขี้เรื้อนเปียก (Demodex Mites)

ไรขี้เรื้อนเปียก (Demodex Mites)

แหล่งอาศัย : อาศัยอยู่ในรูขุมขนสุนัข โดยพบได้บ่อยในลูกสุนัข ในกรณีที่ระบบภูมิคุ้มกันยังไม่สมบูรณ์
พบได้: ในรูขุมขนสุนัข
ติดสุนัขโดย : ติดจากสุนัขตัวอื่นที่เป็นโรค หรือเกิดขึ้นเองในกรณีที่สุนัขมีระบบภูมิคุ้มกันไม่สมบูรณ์ รวมทั้งลูกสุนัขสามารถติดจากแม่ได้
ผลร้ายกับสุนัข : ทำให้สุนัขขนร่วงเป็นวงกว้าง ติดเชื้อ หากพบว่ามีการติดไรขี้เรื้อนเป็นจำนวนมาก จะพบการอักเสบของผิวหนังรุนแรง ขนร่วง ตุ่มหนองแตกออก เป็นแผลคันเกา มีเลือดออก ผิวหนังมีลักษณะหนาตัวและมีสีคล้ำขึ้น


ข้อมูลทั่วไป

ไรขี้เรื้อนเปียก ในน้องหมามีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Demodex canis เป็นสาเหตุของโรคผิวหนังที่พบได้บ่อย บางคนอาจจะรู้จักกันในชื่อ “ไรขี้เรื้อนขุมขน” เพราะตามธรรมชาติไรขี้เรื้อนชนิดนี้จะอาศัยอยู่ในรูขุมขนบนตัวน้องหมาเป็นส่วนใหญ่ และพบได้บ้างที่ต่อมไขมันของผิวหนัง (sebaceous glands) โดยอาศัยอยู่ด้วยการกินเซลล์เนื้อเยื่อที่ตายแล้วของเยื่อบุรูขุมขนเป็นอาหาร 

 

ไรขี้เรื้อนเปียกจัดอยู่ในกลุ่มแมลงที่เป็นปรสิตภายนอก (Ectoparasite) มีขนาดเล็ก ลำตัวมีลักษณะเรียวยาว คล้ายตัวหนอน ตัวเต็มวัยจะมีขา 8 ขา เพศเมียจะมีขนาดความยาว 300 ไมโครเมตร ส่วนเพศผู้จะยาว 250 ไมโครเมตร

 

โดยแท้จริงแล้วไรขี้เรื้อนเปียกสามารถพบได้ปกติบนผิวหนังของสุนัข แต่ไรขี้เรื้อนจะไม่ก่อโรคทางคลินิกเนื่องจากมีปริมาณน้อย และสุนัขที่แข็งแรงจะมีภูมิคุ้มกันที่คอยทำหน้าที่ควบคุมจำนวนของไรขี้เรื้อนเปียก ดังนั้นหากระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอจะทำให้ไรขี้เรื้อนเปียกสามารถเพิ่มจำนวนขึ้น และไชเข้าทำลายรูขุมขน ทำให้เกิดเป็นโรคไรขี้เรื้อนตามมาได้

 

การติดต่อ

พบว่าไรขี้เรื้อนเปียกนั้นไม่ติดต่อผ่านการสัมผัสจากตัวหนึ่งไปยังอีกตัวหนึ่ง แต่สามารถส่งต่อจากแม่ไปสู่ลูกในช่วงที่เลี้ยงลูกได้ ดังนั้นหากเราพบน้องหมาตัวอื่นที่เป็นขี้เรื้อนเปียก ก็ไม่ต้องกังวลว่าจะติดมาถึงน้องหมาของเรา แต่ก็ควรระวังการสัมผัสกับเชื้อโรคบริเวณผิวหนังจากการติดเชื้อแทรกซ้อนแทน โดยไรขี้เรื้อนเปียกมักมีอาการในสุนัขที่มีปัญหาเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกันหรือร่างกายอ่อนแอ จนทำให้ไรขี้เรื้อนเปียกเพิ่มจำนวนบนผิวหนังจนแสดงอาการออกมา

 

อาการ

ในส่วนของอาการของโรคไรขี้เรื้อนเปียกนั้นจะเกิดขึ้นเมื่อไรขี้เรื้อนเพิ่มจำนวนขึ้นมากจนชอนไชเข้าทำลายรูขุมขน ทำให้เกิดอาการขนร่วง ผิวหนังแดง คันและเกา มีเม็ดตุ่ม มีตุ่มหนอง ผิวหนังเยิ้มแฉะ มีแผลหลุม ผิวหนังอักเสบ มีเลือดออก มีกลิ่นตัว เกิดรูขุมขนอักเสบ (Folliculitis) ซึ่งเป็นลักษณะอาการของโรคไรขี้เรื้อนตามมา

 

ความรุนแรงของโรคไรขี้เรื้อนเปียกสามารถแบ่งเป็น 2 ระดับ ดังนี้

 

1. แบบเฉพาะที่ (Localized demodicosis) : พบได้บ่อยประมาณ 90% อาการไม่รุนแรง พบรอยโรค 1-5 ตำแหน่ง บริเวณแก้ม เหนือคิ้ว ขาหน้า โดยสุนัขแสดงอาการขนร่วง ผิวหนังแดง คันและเกา มีแผลอักเสบเป็นตุ่มแดงๆ เล็กๆ ซึ่งอาจหายได้เองหากสุนัขแข็งแรง และมีภูมิคุ้มกันดีพอ หรืออาจลุกลามจนกลายเป็นแบบกระจายทั่วตัว

 

2. แบบกระจายกระจายทั่วตัว (Generalized demodicosis) : พบได้น้อย มักเกิดขึ้นในสุนัขโตที่มีอายุมากกว่า 4 ปีขึ้นไป หรือในสุนัขที่มีภาวะของโรคอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ฮอร์โมนที่ผิดปกติหรืออยู่ระหว่างการใช้ผลิตภัณฑ์กดภูมิคุ้มกัน โดยจะพบรอยโรคมากกว่า 5 จุด สุนัขจะแสดงอาการของการอักเสบของผิวหนังรุนแรง ขนร่วง ตุ่มหนองแตกออก เป็นแผลคันเกา มีเลือดออก ผิวหนังมีลักษณะหนาตัวและมีสีคล้ำขึ้น พบได้ตั้งแต่ใบหน้า ลำตัว ขา และเท้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่บริเวณอุ้งเท้าที่เกิดการบวม อักเสบ แดง มีตุ่มหนอง และทำให้สุนัขเจ็บปวดมากเวลาเดินหรือลงน้ำหนัก

 

การรักษา

การตรวจเช็กว่าน้องหมาเป็นโรคไรขี้เรื้อนเปียก จำเป็นต้องขูดหาตัวไรขี้เรื้อนจากผิวหนังด้วยใบมีดจนมีเลือดออกซิบ ๆ เนื่องจากไรเหล่านี้ อาศัยอยู่ในรูขุมขนที่ลึกลงไป หากขูดไม่ลึกพอก็จะไม่สามารถเจอตัวไรขี้เรื้อนได้ หากพบว่าน้องหมามีไรขี้เรื้อนเปียกก็ไม่ต้องกังวล เพราะไม่ติดมาสู่คน เพียงทำความสะอาดตามปกติ และใช้ผลิตภัณฑ์ตามคำแนะนำจากสัตวแพทย์ รวมถึงดูแลสุขภาพน้องหมาให้ดี น้องหมาก็จะกลับมาหายเป็นปกติ ในปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์หลายชนิดที่สามารถเข้าไปควบคุมจำนวนไรขี้เรื้อนเปียกให้กลับมาอยู่ในสภาวะที่พบในสุนัขปกติ หรือลดลงมาในจำนวนที่ร่างกายสามารถควบคุมได้ 

สิ่งสำคัญคือเมื่อพบว่าสุนัขของเรามีอาการคล้ายเป็นขี้เรื้อนเปียกควรพาไปพบสัตวแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยอย่างถูกต้อง ไม่ควรรักษาเองด้วยวิธีรักษาโรคเรื้อนสุนัขแบบบ้าน ๆ อย่างเช่น การใช้ขมิ้นหรือยาม่วงทาตามตัวเพราะนอกจากจะไม่ได้ผลแล้ว อาจจะทำให้สุนัขอาการแย่ลงอีกด้วย การตรวจรักษาโรคไรขี้เรื้อนเปียกกับสัตวแพทย์จะช่วยให้วางแผนการรักษาอย่างถูกต้องเหมาะสมและตรงจุด ทำให้หายได้ไวกลับมามีผิวหนัง และสุขภาพขนดีตามเดิม

 

การป้องกัน

การป้องกันไรขี้เรื้อนเปียกทำได้ง่าย ๆ แค่เลือกโปรแกรมป้องกันที่ครบกว่าที่สามารถครอบคลุมทั้ง การกำจัดเห็บ หมัดสุนัข ไรขี้เรื้อนเปียก ไรขี้เรื้อนแห้ง พยาธิหนอนหัวใจ และพยาธิร้ายอื่นๆ เช่น พยาธิปากขอ พยาธิแส้ม้า เป็นประจำทุกเดือนตามที่สัตวแพทย์แนะนำ และพาไปพบสัตวแพทย์เป็นประจำสม่ำเสมอใกล้บ้านเพื่อดูแลสุนัขให้มีสุขภาพดีแข็งแรง ให้อาหารที่มีสารอาหารครบถ้วน ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และไม่พยายามทำให้สุนัขเกิดความเครียด เพียงเท่านี้ก็หมดห่วงเรื่องปัญหาไรขี้เรื้อนเปียกได้แล้ว เพราะหากสุนัขอ่อนแอ ภูมิคุ้มกันลดลง เชื้อไรขี้เรื้อนที่ไม่แสดงอาการอาจจะเพิ่มจำนวนและทำให้เกิดโรคได้

ปกป้องน้องให้ครบกว่าทุกการป้องกัน ทั้งเห็บ หมัด ไร พยาธิหนอนหัวใจ และพยาธิร้ายอื่น ๆ ด้วยโปรแกรมป้องกันปรสิตที่ครบกว่าที่สัตวแพทย์แนะนำ

คัดลอก URL แล้ว